Assessment · Details and Construction · Industry Code · Offshore Structure

งาน Brown Field คืออะไรแล้วเค้าทำอะไรกัน


งาน Brown Field คืออะไรแล้วเค้าทำอะไรกัน

K.Kurojjanawong

18-Apr-2019

งานโครงสร้างในธุรกิจ Oil and Gas นั้นแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ เรียกว่า Green Field และ Brown Field ซึ่งเข้าใจว่าเป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้กับแทบทุกอุตสาหกรรมในความหมายคล้ายๆ กัน

0.jpg

Green Field หมายถึง โครงสร้างที่สร้างขึ้นใหม่ ดังนั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง ก่อสร้าง ขนย้าย และติดตั้ง ทำให้จะต้องมีการวิเคราะห์และออกแบบ ตั้งแต่สภาวะใช้ งาน ขนย้ายและติดตั้ง ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมกว้างๆ ของงานในสาขานี้ได้เร็ว โดยเฉพาะถ้าเป็น Field Development ที่ตั้งทีละหลายๆ แท่น และได้เห็นตั้งแต่ช่วงออกแบบคอนเซปยาวไปถึงออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างจนติดตั้ง จะทำให้เรียนรู้ได้เร็วมาก แต่ข้อเสียคือถ้างานขนาดใหญ่มาก ก็จะเห็นโครงสร้างอยู่แบบเดียว (โครงสร้างในทะเลมีหลายรูปแบบมาก) อาจจะกินเวลาได้ตั้งแต่ 1-5 ปี สำหรับโครงการที่ใหญ่มากๆ วิศวกรส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กๆ และ วัยกลางๆ มักจะอยากที่จะทำงาน Green Field เนื่องจากจะเห็นอะไรได้หลากหลาย แต่หาแทบไม่มีในอ่าวไทยแล้ว เหลือแต่ Wellhead ตัวเล็กๆ (อ่าวไทยอยู่ในช่วงขาลงแล้ว) แต่อาจจะมีงานในประเทศข้างเคียงอย่างพม่า อยู่ที่ว่า บริษัทในไทยจะได้งานหรือไม่ (ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายๆ ถ้างานใหญ่ๆ ก็อาจจะติดคำว่าไม่มี ปสก มาก่อน ซึ่งไม่มีทางแก้ได้)

Brown Field หมายถึง โครงสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว อาจจะต้องการเพิ่มกำลังการผลิตทำให้ต้องมีการเพิ่มอุปกรณ์ ซึ่งอาจจะต้องมีการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้าง รวมไปถึงอาจจะต้องมีการต่อเติมโครงสร้างขยายพื้นที่ ทำให้ต้องมีการวิเคราะห์โครงสร้างใหม่ทั้งตัว รวมไปถึงอาจจะมีการเสริมกำลังโครงสร้างด้วย ซึ่งวิศวกรโครงสร้างจะเป็นคนบอกว่าต่อเติมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับฐานรากของโครงสร้าง ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องได้ อาจจะต้องมีการเสริมกำลังโครงสร้างด้วย ก็อยู่ที่ว่าราคาจะสูงจนยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งวิศวกรโครงสร้างจะต้องวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างใหม่ทั้งตัวในสภาวะใช้งาน รวมไปถึงจะต้องคิดขั้นตอนและวิธีการติดตั้ง หรือ เสริมกำลังด้วย งานในอ่าวไทยทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นงานลักษณะนี้ซะมากเนื่องจากอยู่ในช่วงปลายอายุของแทบจะทุกแหล่ง วิศวกรโครงสร้างในบ้านเราสมัยก่อนแทบจะทุกคนจะเริ่มมาจากงานลักษณะนี้ รวมถึงผมด้วย (ผมทำไปไม่ต่ำกว่า 30 งานอ่าวไทย) ข้อดีคืองานจะสั้นมาก งานหนึ่งอาจจะมีตั้งแต่ 1-3 เดือน ถ้างานต่อเติมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ด้วย อาจจะยาวถึง 6 เดือน จนจบช่วงออกแบบรายละเอียด ทำให้ได้เห็นโครงสร้างหลากหลายรูปแบบมาก และมักจะเป็นการทำงานต่อจากงานคนอื่น ทำให้เห็นหลากหลายสไตล์การทำงานทำให้ความคิดกว้างขึ้น ข้อเสีย คือมองไม่เห็นภาพกว้างๆ ของการพัฒนาแหล่ง หรือ การเริ่มต้นออกแบบ ก่อสร้าง ขนย้าย ไปจนถึงติดตั้ง แบบครบวงจร วิศวกรส่วนใหญ่จึงมักจะทำได้ไม่นานและต้องย้ายออกไปหาอะไรที่ท้าทายมากขึ้น

วันนี้ผมเอางานหนึ่งที่ผมทำไว้เมื่อ 12-13 ปีที่แล้วในอ่าวไทย มาให้ดู ถือเป็นงานยากงานหนึ่ง และเป็นงานท้ายๆ ที่ผมได้ทำในอ่าวไทย มาดูว่าเราทำอะไรกันใน Brown Field มันน่าสนใจขนาดไหน (งานนี้ผมเคยเอาไปยื่นขอเลื่อนขั้น กว แต่ไม่ได้ไปสอบสัมภาษณ์ เนื่องจากลางานไปไม่ได้ เลยขอยกเลิกไปก่อน งานในทะเลไม่ใช้ กว ดังนั้นมันก็จะมีตั้งแต่ไม่เลื่อนขั้นกันถือแค่ภาคี หรือ ไม่ต่ออายุ ไม่สนใบ กว กันเลย ก็มีเหมือนกัน )

งานนี้เป็นการติดตั้ง Produced Water Injection ซึ่งเป็นอุปกรณ์อัดฉีดน้ำลงไปใต้ดิน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต โดยต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มทั้งหมด 12 ตัว รวมน้ำหนัก ประมาณ 150 ตัน อยู่ที่ Cellar Deck ไป 70 ตัน และอยู่ที่ Upper Deck ไป 80 ตัน ทำให้ต้องมีการต่อเติมขยายพื้นออกมาจากทั้งชั้น Upper Deck ขนาดยื่นออกมาจากพื้นเดิม 7.5 ม กว้าง 15.5 ม และ Cellar Deck แบ่งเป็นสองส่วนคือ ยื่น 7.5 ม กว้าง 22ม และ ยื่น 4 ม กว้าง 7.5ม ตามลำดับ โดยมีน้ำหนักโครงสร้างส่วนต่อเติมรวมไปถึงเสริมกำลังประมาณ 110 ตัน รวมกับน้ำหนักอุปกรณ์อีก 150 ตัน รวมเป็น 260 ตัน ที่เป็นน้ำหนักเพิ่มต่อโครงสร้างเดิม

3.JPG

ความท้าทายของงานนี้อยู่ที่ กำลังดั้งเดิมของโครงสร้างที่จำกัดมาก ทั้งกำลังของเสาเข็มที่แทบจะไม่ผ่านตามข้อกำหนดหลังจากเพิ่มน้ำหนักไป 260 ตัน (ผมต้องเอาแบบเก่าตั้งแต่เริ่มสร้างและข้อมูลทั้งหมดมารื้อดูใหม่ สุดท้ายพบว่าติดตั้งได้ตามข้อกำหนดพอดี) และสภาพหน้างานที่มีสิ่งกีดขวางต่อการทำงานค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะ Platform Crane ระยะยกไกลมาก และยังเข้าไม่ถึงในบางบริเวณเนื่องจากโดน Cooler Deck ที่อยู่บนสุดบังอยู่ ทำให้ต้องมีการแบ่ง Deck ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ Platform Crane ยกได้

1.png

2.png

โดยเราเสนอขั้นตอนการติดตั้งออกเป็นช่วง ดังแสดงในรูป

ขั้นที่ 1 – เนื่องจากพื้นเดิมนั้นยื่นออกมาจากเสาแล้ว 6 ม ดังนั้นยื่นต่อออกไปอีกจึงรวม 13.5ม จากจุดรองรับ ทำให้ต้องมีการเพิ่มค้ำยัน ทำให้ต้องมีการติดตั้งค้ำยันจากเสาเดิมออกมาที่ Cellar Deck ก่อนที่จะทำการติดตั้งส่วนต่อเติม

4.JPG

ขั้นที่ 2 – ทำการเพิ่มคานที่ระดับ Upper Deck เพื่อเตรียมติดตั้ง Bracing ส่วนเพิ่มเติม

5.JPG

ขั้นที่ 3 – ยก Deck ที่จะทำการต่อเติม ที่ระดับ  Cellar Deck (ติดตั้งระดับบนก่อนไม่ได้ ไม่งั้นจะติดตั้งระดับล่างไม่ได้ เพราะบังกัน) ด้วยการแบ่งออกมาเป็น 2 Panels แล้วยกด้วย Platform Crane น้ำหนักแต่ละ Panel ประมาณ 15-20 ตัน เนื่องจากมันมี Cooler Deck บังอยู่ มีรูเปิดอยู่ไม่กว้างมาก เราจะต้องทำให้ COG มันเทไปจนอยู่ตรงรูเปิดนั้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะยกไม่ได้ หรือ ยกแล้วเอียงจนติดตั้งลำบาก เราเลยต้องมีการเอา Element บางส่วนออกรวมไปถึง Deck Plate ด้วย แล้วใช้เป็น Counter Weight เพื่อดันให้ COG มันขยับไปหารูเปิด เมื่อยกจนได้ระดับแล้วทำการเชื่อมที่ละส่วน แล้วติดตั้งส่วนที่เหลือเข้าที่

6.JPG

ขั้นที่ 4 – ทำการติดตั้ง Bracing ส่วนเพิ่ม

7.JPG

ขั้นที่ 5 – ทำการเชื่อม Deck ทั้งสองส่วนที่ Cellar Deck เข้าด้วยกัน

8.JPG

ขั้นที่ 6 – เนื่องจากว่า Upper Deck ส่วนต่อเติม นั้นอยู่ใต้ Cooler Deck พอดี ดังนั้นจึงใช้ Platform Crane ยกขึ้นไปถึงตำแหน่งที่ต้องการไม่ได้ เราจึงตั้งใจจะใช้ Cooler Deck ยก ด้วยการเกาะรอกใต้ Cooler Deck แล้วใช้ Winch ดึง จึงต้องยก Upper Deck ส่วนขยายจากเรือด้วย Platform Crane แล้วใช้เชือกดึง แล้วเหวี่ยงขึ้นมาวางที่ Cellar Deck ที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยไว้ก่อน

9.JPG

ขั้นที่ 7 – เนื่องจาก Upper Deck ส่วนขยายนั้นก็ใหญ่มากเกินกำลังของ Platform Crane ที่จะยกขึ้นจากเรือ จึงได้แบ่งออกเป็นสองส่วน แล้วขั้นตอนที่ 6 สองครั้ง เพื่อนำ Deck ขึ้นมาวางที่ Cellar Deck จากนั้นทำการเชื่อมต่อ Upper Deck ส่วนขยายทั้งสองส่วนให้เป็นชิ้นเดียวกันบน Cellar Deck

10.JPG

ขั้นที่ 8 –  ทำการติด Padeyes ที่คานของ Cooler Deck จริงๆ ขั้นตอนนี้ต้องมีการเสริมกำลัง คานบางตัวของ Cooler Deck ก่อนด้วย เนื่องจากกำลังไม่เพียงพอที่จะยก Upper Deck ส่วนขยายขึ้น พอดีในรูปไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากออกแบบรายละเอียดแล้ว จึงไม่ครบถ้วน

11.JPG

ขั้นที่ 9 – ยก Upper Deck ส่วนขยายขึ้นด้วยรอกที่เกาะกับ Cooler Deck จนได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วทำการเชื่อมต่อกับโครงสร้างเดิม

12.JPG

ขั้นที่ 10 – ทำการติดตั้ง Bracing ส่วนเพิ่มเติมตามแบบ

13.JPG

ขั้นที่ 11 ถึง 14 – เป็นขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ด้วยการค่อยๆ Skid เข้ามาจากทางที่เปิดรอไว้ ซึ่งวิศวกรจะต้องคิดไว้ล่วงหน้าด้วยว่าจะให้เค้าเอาเข้ามาได้อย่างไร Bracing บางตัวอาจจะขวางทางการติดตั้งอุปกรณ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งภายหลัง ซึ่งจะต้องระบุไว้ในแบบว่าชิ้นไหนติดก่อนติดหลัง

14.JPG

15.JPG

16.JPG

 

17.JPGงานก่อสร้างและติดตั้งเสร็จใช้งานแล้ว แต่พอดีผมไม่เคยไปออฟชอร์อีกเลย เลยไม่มีรูปของจริงให้ดู

จริงๆ แล้วขั้นตอนในรูปมันไม่ค่อยครบถ้วนสักเท่าไร เนื่องจากยังไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะส่งแบบออกไป แต่ก็พอให้เห็นภาพกว้างๆ ว่าเราทำอะไรกันในงาน Brown Field

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมวิศวกรที่ทำงานโครงสร้างในทะเลถึงคุ้นงานที่ต้องเสริมกำลัง หรือ ต้องทำ Construction หรือ Installation Stage Analysis ที่ต้องมีการวิเคราะห์โครงสร้างเป็นช่วงๆ เนื่องจากเราโดนสอนให้คิดเป็นขั้นๆ แบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ

อย่างไรก็ดีงานนี้เป็นงาน Brown Field ขนาดใหญ่ ซึ่งนานๆจะเจอสักครั้ง งาน Brown Field ที่มีในปัจจุบันผมเข้าใจว่าค่อนข้างเล็กกว่างานนี้มาก

Leave a comment